ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ไทยคดีนวลฉวี บันทึกบทแรกของ "หมอฆ่าเมีย" ที่สะเทือนสังคมไทย

คดีนวลฉวี บันทึกบทแรกของ “หมอฆ่าเมีย” ที่สะเทือนสังคมไทย

คดีนวลฉวีเกิดจากผู้ชายคนหนึ่งที่สร้างโลกหลายใบ ท้ายที่สุดแล้วมันลงเอยด้วยความเศร้า

คดีนี้เป็นคดีหมอฆ่าเมียที่เกิดขึ้นแรกสุดในประเทศไทย คดีนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะหมอผู้เป็นฆาตกรได้ทำการอำพรางศพอย่างแยบยล นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวาทกรรม “หมอฆ่าเมีย” ที่ถูกนำไปพูดถึงกันโดยทั่วไป เพราะว่า “แพทย์” ซึ่งเป็นอาชีพที่สังคมยกย่องสูงสุดว่าเป็นปัญญาชนกลับเลือกที่จะก่ออาชญากรรมอันโหดเหี้ยมต่อภรรยาของตนเอง

ปูมหลังคดีนวลฉวี

หมอที่เป็นฆาตกรในคดีนี้นั้นชื่อว่า นพ. อธิป สุญาณเศรษฐกร (ผมขอเรียกสั้นๆ ว่าหมออธิป)

ในปี พ.ศ. 2494 หมออธิปได้เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หมออธิปเป็นหมอที่หน้าตาค่อนข้างดี เขามีความใจเย็น และฉลาดเฉลียว เขาใช้เวลาเรียนอยู่ 6 ปีก็จบการศึกษาในระดับแพทยศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ 2500

หลังจากจบการศึกษาแล้ว หมออธิปได้เข้ารับราชการเป็นนายแพทย์สังกัดกรมกำลังพลทหารอากาศ และได้รับการประดับยศเรืออากาศโท เขาทำงานเป็นแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลรถไฟ หากแต่ว่าในปี พ.ศ. 2501 เขาถูกย้ายมาเป็นแพทย์รถไฟ หัวหน้าเขต 4 จังหวัดลำปาง

ที่ลำปางนี้เองที่หมออธิปได้รู้จักกับนวลฉวี หญิงสาวที่ทำให้เรื่องของทั้งคู่กลายเป็นตำนาน!

นวลฉวี (ขอสงวนนามสกุล) มาจากครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี เธอเป็นหญิงสาวผอมบาง ตัวเล็ก มีหน้าตาอยู่ในระดับกลางๆ นวลฉวีจบการศึกษาวิชาพยาบาลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเช่นเดียวกับหมออธิป แต่เธอจบในปี พ.ศ 2497 เธอจึงน่าจะมีอายุมากกว่าหมออธิปเล็กน้อย

เธอทำงานเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลยาสูบจนกระทั่งในปี พ.ศ 2501 นวลฉวีและเพื่อนได้เดินทางไปเที่ยว จ. ลำปาง เธอได้พบกับหมออธิปที่นี่ หมออธิปได้อาสาเป็นไกด์พาเธอเที่ยวลำปางเป็นเวลา 3-4 วัน หลังจากนั้นนวลฉวีและเพื่อนจึงเดินทางไปเที่ยวต่อที่ จ. เชียงใหม่

ถึงแม้ระยะเวลาที่ทั้งสองอยู่ด้วยกันจะน้อย แต่ทั้งสองก็เกิดความรู้สึกดีๆที่มีให้กันและกันขึ้น หมออธิปอยู่ต่างจังหวัดมานานก็ย่อมจะเกิดความเปล่าเปลี่ยว เมื่อพบกับหญิงสาวร่างเล็ก ที่มีเสน่ห์และขี้เอาใจอย่างนวลฉวี จึงไม่แปลกอะไรที่จะเกิดความรู้สึกรักและผูกพันต่อเธอ

สำหรับนวลฉวีนั้น เธอได้พบกับแพทย์หนุ่ม ซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องของคนในสังคมไทย และยังมีหน้าตาอยู่ในระดับดี นิสัยก็สุภาพเรียบร้อย ไม่แปลกอีกเช่นกันที่เธอจะตกหลุมรักหมออธิป ทั้งสองจึงแลกที่อยู่กัน และทำการติดต่อโดยการใช้จดหมาย ส่วนมากนั้นจะเป็นจดหมายของนวลฉวีเสียมากกว่าที่ส่งไปถึงหมออธิปที่จังหวัดลำปาง (อย่างที่ทราบกันดี สมัยนั้นไม่มี Line, Facebook หรือ social network อื่นๆ )

ถึงแม้นวลฉวีจะเป็นฝ่ายที่แสดงความรู้สึกมากกว่า แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองก็ได้พบรักกัน และคบหาเป็นแฟน เมื่อหมออธิปย้ายกลับมายังโรงพยาบาลรถไฟ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่นั้นพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนทั้งสองก็ได้เสียกันในที่สุด หรือเป็นสามีภรรยาในทางพฤตินัย แต่ทั้งสองยังไม่ได้แต่งงานกันแต่อย่างใด

ประมาณช่วงหลังของปี พ.ศ 2501 นวลฉวีล้มป่วยหนักอยู่ที่โรงพยาบาลยาสูบโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเธอตกเลือดอย่างหนัก นวลฉวีไม่บอกใครแม้กระทั่งหมออธิป ว่าเธอป่วยเป็นอะไร แต่หมออธิปสังเกตได้จากอาการของเธอว่าเธอคงจะแท้งบุตรที่เกิดกับเขา

ในปี พ.ศ 2502 หมออธิปได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี เพื่อที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าแผนกจักษุที่โรงพยาบาลรถไฟ ก่อนที่หมออธิปจะเดินทางไปนั้น เขาถูกโรงพยาบาลส่งให้ไปเทรนที่แผนก หู ตา จมูก (สมัยนั้นแผนกเหล่านี้น่าจะยังรวมกันอยู่) เป็นเวลา 6 เดือน พอตกเย็นหมออธิปก็ต้องไปเรียนภาษาเยอรมัน เพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมกับการไปศึกษาต่อ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เวลาของทั้งหมออธิปและนวลฉวีที่จะอยู่ด้วยกันนั้นลดน้อยลงไปอย่างมาก

โลกหลายใบของหมออธิป

นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งเข้ามาในชีวิตของหมออธิป เธอชื่อ น.ส สมบูรณ์ (ขอสงวนนามสกุล) เธอเป็นเพื่อนของหมออธิปตั้งแต่เด็ก เธอหน้าตาดีมาก หมออธิปเองก็น่าจะแอบชอบเธอตั้งแต่เด็กแล้ว ดังนั้นทั้งสองจึงแอบพัฒนาความสัมพันธ์ลับหลังนวลฉวี นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เวลาที่หมออธิปมาพบกับนวลฉวีน้อยลงไปอีก

ว่ากันว่าผู้หญิงโดยทั่วไปมักจะมีเซนส์ในการจับว่าแฟนของตนเองมีกิ๊ก ปรากฎว่านวลฉวีนั้นมีเซนส์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ในต้นปี พ.ศ.2502 นวลฉวีระแคะระคายว่าหมออธิปมีกิ๊ก เธอจึงเข้ามาเฝ้าหมออธิปไม่ห่างเหมือนกับเงาตามตัว เธอมาเฝ้าเขาที่โรงพยาบาลรถไฟ และติดตามไปทั่วทุกหนทุกแห่ง

การกระทำเช่นนี้ของนวลฉวีทำให้หมออธิปเริ่มรู้สึกรำคาญใจ และเริ่มหมดรักนวลฉวี (จริงๆก็น่าจะหมดตั้งแต่มีกิ๊กแล้ว) สุดท้ายหมออธิปจึงจดทะเบียนกับนวลฉวีที่เขตยานนาวาตามความต้องการของเธอ หากแต่ว่าการจดทะเบียนสมรสไม่ได้เกิดจากความรักแต่อย่างใด แต่มาจากความต้องการของหมออธิปที่จะตัดความรำคาญเท่านั้น เขาเชื่อว่าถ้านวลฉวีได้สิ่งที่เธอต้องการแล้ว เธอจะหยุดติดตามเขาด้วยความหึงหวงเสียที โดยหมออธิปได้กล่าวในภายหลังว่า

ที่จริงผมไม่อยากจดทะเบียนกับเธอหรอก เพราะอะไรเหรอ มันก็พูดยาก หลายเรื่องบอกไม่ถูก คือเขาชอบตามผมทุกวันทุกคืน งานการเขาก็ไม่ทำ มานั่งเฝ้า ผมนี้รำคาญสุดๆ ผมไม่อยากจดหรอก แต่จดก็จด มันอยากให้จดก็จดไป จะได้ตัดปัญหาซะที

ปรากฎว่าหมออธิปนั้นคิดผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะการจดทะเบียนสมรสไม่ได้ทำให้ปัญหาจบลง แต่ทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น

ดราม่าคุกรุ่น

หมออธิปนั้นยังไม่ได้เลิกรากับสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อเธอทราบว่าหมออธิปจดทะเบียนสมรสกับนวลฉวี สมบูรณ์จึงขอร้องกึ่งบังคับให้เขาพาเธอไปจดทะเบียนสมรสด้วย หมออธิปจึงจดทะเบียนสมรสกับสมบูรณ์อีกคนหนึ่งเพื่อตัดปัญหา การจดทะเบียนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากหมออธิปจดทะเบียนกับนวลฉวีได้เพียง 6 วันเท่านั้น!

นั่นทำให้ดราม่าคุกรุ่นไปยิ่งกว่าเดิม เมื่อหญิงทั้งสองต่างมีทะเบียนสมรส ทั้งสองจึงมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแทบทุกครั้งจะเกิดที่โรงพยาบาลที่หมออธิปทำงานอยู่ (ไม่แน่ใจว่าเป็นโรงพยาบาลรถไฟ หรือโรงพยาบาลศิริราช) ดังนั้นหมออธิปจึงไปขอให้ผู้ใหญ่ห้ามไม่ให้ทั้งนวลฉวีและสมบูรณ์ เข้ามาในโรงพยาบาล

สำหรับนวลฉวี เธอยังไม่พอใจกับการที่เธอมีทะเบียนสมรส เธอคิดว่าเธอจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะให้หมออธิปมาแต่งงานกับเธอให้จงได้ และแน่นอนว่าจะต้องกำจัด น.ส สมบูรณ์ออกไปจากชีวิตของหมออธิป

นวลฉวีได้ไปฟ้องอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์เรียนอยู่ว่า สมบูรณ์เป็นชู้กับหมออธิป นอกจากนี้นวลฉวียังบอกกับครอบครัวตัวเธอเองว่า เธอและหมออธิปจะแต่งงานกัน ซึ่งเป็นการบังคับหมออธิปกลายๆ หมออธิปจึงตอบกลับไปว่า นวลฉวีคิดไปเอง

หมออธิปเป็นคนเจ้าชู้ (ส่วนหนึ่งก็เพราะหน้าตาดี) เขาสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานผู้หญิงหลายคน เมื่อนวลฉวีมาพบหมออธิปอยู่กับผู้หญิง ก็เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นใหญ่โต ความสัมพันธ์ของทั้งสองจึงย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

ช่วงที่ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลงนี้ นวลฉวีได้บันทึกเรื่องทั้งหมดอย่างละเอียดไว้ในสมุดบันทึกของเธอ ซึ่งปัจจุบันนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในโรงพยาบาลศิริราช

ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายน นวลฉวีพยายามที่จะไปอยู่ที่บ้านหมออธิป แต่กลับถูกไล่ออกมา (บ้างว่าหมออธิปไล่เอง บ้างว่าญาติไล่) ต่อมาเธอได้ไปหาหมออธิปที่โรงพยาบาลรถไฟเพื่อเคลียร์ปัญหา แต่เธอกลับไปในช่วงที่หมออธิปทำงานอยู่ นั่นทำให้เขาระงับอารมณ์ไม่อยู่ และต่อยเข้าไปที่หน้าของนวลฉวีอย่างแรง เสียงร้องของนวลฉวีดังไปทั่วโรงพยาบาล จนทำให้ผู้คนรู้กันไปทั่ว

นวลฉวีจึงแจ้งความว่าหมออธิปทำร้ายร่างกาย สุดท้ายหมออธิปก็ยอมประนีประนอมกับเธอ แต่บาดแผลของนวลฉวีที่ใบหน้ากลับลุกลามมากขึ้น แต่นวลฉวีปฎิเสธที่จะเอาเรื่องหมออธิปต่อไป เพราะกลัวว่าเขาจะเสียอนาคตทางการงาน

ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม นวลฉวีบันทึกไว้ว่าหมออธิปได้ทำร้ายเธออีกครั้งหนึ่ง และได้มีการประนีประนอมโดยตำรวจและเพื่อนของนวลฉวี ซึ่งทุกครั้งที่มีการไกล่เกลี่ย หมออธิปจะยอมทุกครั้ง แต่เป็นการยอมแต่ปากเท่านั้น ในใจของหมออธิปไม่ยอม และเริ่มเกลียดชังนวลฉวีมากยิ่งขึ้นทุกที

ส่วนนวลฉวีแล้ว เธอยังไม่ยอมแพ้ เธอไม่ยอมรับว่าหมออธิปหมดรักเธอแล้ว เธอยังคงยุ่งเกี่ยวกับเขาอีกต่อไป ทั้งๆที่ถ้าเธอยอมไปจากเขาเสีย เธอก็น่าจะยังมีชีวิตอยู่ต่อไป

การฆาตกรรม

ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2502 นวลฉวีได้นัดกับเพื่อนไว้ที่ รพ. ยาสูบ แต่นวลฉวีกลับไม่มาตามนัด หลังจากนั้นไม่มีใครเห็นนวลฉวีอีกเลย

อีกสองวันต่อมา นวลฉวีถูกพบเป็นศพลอยน้ำที่บริเวณปากเกร็ด หลังจากชันสูตรเสร็จในคืนวันที่ 13 กองทัพนักข่าวจึงแห่ไปหาหมออธิป โดยหมอตอบเพียงสั้นๆ อย่างหน้าด้านๆ ว่า

เธอเป็นภรรยาผมก็จริง แต่เราไม่อยู่ด้วยกันครับ แยกกันอยู่ พรุ่งนี้ค่อยไปรับศพครับ เพราะมันดึกแล้ว แหะๆ

ตำรวจได้สอบสวนหมออธิป และได้พบรอยข่วนที่มือหมอ ตำรวจจึงได้ตั้งข้อกล่าวหาฆาตกรรมต่อหมออธิปทันที แต่ก่อนที่จะได้รับการดำเนินคดีต่อไป หมออธิปถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีผู้เผด็จการในขณะนั้นเรียกตัวไปพบเสียก่อน

หมายเหตุ: จอมพลสฤษดิ์นั้นมีอำนาจในการทำสิ่งใดก็ได้ รวมไปถึงสังหารใครก็ได้ ตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินในเวลานั้น (คล้ายๆมาตรา 44 ของประยุทธ์สมัย คสช)

จอมพลสฤษดิ์ถามว่าหมออธิปฆ่าเมียตัวเองจริงหรือไม่ หมออธิปตัวสั่นเทาแต่ก็แข็งใจปฎิเสธ จอมพลสฤษดิ์จำต้องปล่อยตัวหมออธิปไป

สะสางคดีนวลฉวี

หลังจากนั้นตำรวจจึงได้ดำเนินการสอบสวนต่อไป และพบว่าหมออธิปมีคนไข้ที่สนิทสนมมากอยู่คนหนึ่งชื่อว่า นายชูยศ ตำรวจเองก็ได้พบหลักฐานสำคัญอย่างคราบเลือดจากสถานที่ต่างๆ เช่นที่บ้านของนายชูยศ และสะพานเหล็ก ท้ายที่สุดแล้ว ตำรวจจึงสรุปสำนวนคดีได้สำเร็จ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปดังต่อไปนี้

หมออธิปเกลียดชังนวลฉวีมากจนคิดจะฆ่า เขาจึงไปหานายชูยศ โดยมอบเงินอย่างมากเพื่อให้นายชูยศร่วมมือด้วย นายชูยศ และภรรยาจึงไปหานายยง เพื่อหามือสังหาร ปรากฎว่านายยงได้แนะนำนายมงคล ฆาตกรหนีคดีที่ปลอมตัวมาเป็นสัปเหร่อ โดยนางชูยศจะมอบเงินให้นายมงคล 5,000 บาทก่อน และจะมอบอีก 5,000 บาทในภายหลัง นายมงคลตกลงอย่างไม่ลังเล

เมื่อได้มือสังหารแล้ว หมออธิปจึงได้ไปเตรียมอุปกรณ์สังหารให้พร้อม หลังจากนั้นเขาได้ลวงนวลฉวีมายังจุดที่ตนเองตระเตรียมไว้ นั่นก็คือบ้านของนายชูยศ

เมื่อนวลฉวีเข้ามาในบ้าน หมออธิปก็ได้โปะยาสลบเธอ แล้วจึงให้พวกลูกสมุนที่เตรียมไว้ออกมาจัดการนวลฉวี โดยหมออธิปได้หัวเราะอย่างเหี้ยมโหด

พวกลูกสมุนได้ข่มขืนนวลฉวี แล้วจึงใช้มีดปลายแหลมแทงเธอจนถึงแก่ชีวิต หลังจากนั้นพวกลูกสมุนจึงนำศพของเธอออกไปจากบ้านนายชูยศ เพื่อนำไปทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานนนทบุรี

เมื่อพวกลูกสมุนทิ้งศพของเธอนั้น ชาวบ้านได้ยินเสียงดังตูม แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าเป็นเสียงอะไรกันแน่

ต่อมาตำรวจจึงเข้าจับกุมหมออธิปและพวกลูกสมุนทั้งหมด บ้านของหมออธิปร่ำรวยจึงใช้ทนายมือดีที่สุดเข้าสู้คดี แต่ปรากฎว่าหมออธิปก็แพ้คดีอยู่ดี เขาถูกตัดสินประหารชีวิต ในขณะที่นายมงคล ฆาตกรที่แทงนวลฉวีถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

คดีนวลฉวีจึงปิดลงในลักษณะนี้

ด้วยความที่หมออธิปเป็นนักโทษชั้นดี ในเวลาไม่นานก็ถูกลดโทษตามลำดับ พ่อแม่ของหมออธิปก็ช่วยวิ่งเต้น จนหมออธิปติดคุกจริงเพียง 12 ปีเศษเท่านั้น แต่หมออธิปกลับติดโรคมาจากในคุกทำให้ป่วยกระเสาะกระแสะ ร่างกายไม่แข็งแรงตามเดิม

ตั้งแต่ในชั้นศาลจนถึงพ้นคุกออกมาแล้วนั้น หมออธิปยังคงปฎิเสธว่าเขาไม่เคยฆ่านวลฉวี จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต (หมออธิปถูกรถชน) หมออธิปนอนอยู่ในโรงพยาบาล เขาสารภาพกับผู้ที่เฝ้าอยู่ว่า

“นวลฉวี พี่ขอโทษ พี่เป็นคนฆ่าเธอเองแหละ…………….”

เมื่อพูดจบหมออธิปก็สิ้นลมไป

เรื่องของนวลฉวีจึงเป็นเรื่องของความรักที่มีมากเกินไป จึงจบลงด้วยโศกนาฎกรรมในที่สุด

คดีลักษณะคล้ายกันกลับปรากฏขึ้นอีกในหลายสิบปีต่อมา นั่นคือ คดีบัณฑิต-ศยามล และ คดีเสริม-เจนจิรา นั่นเอง

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!